3 ท่าง่าย ๆ ในการทำกายภาพบำบัดกระดูกทับเส้น ที่สามารถทำเองที่บ้านได้

                การกายภาพบำบัดกระดูกทับเส้นเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ เพราะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นโรคที่พบได้มากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มของวัยทำงานหรือผู้ที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ เป็นอาการที่เกิดจากการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น นั่งทำงานนาน ๆ ทุกวัน ขับรถทางไกลเป็นประจำ ยกของหนักหรือต้องก้ม ๆ เงย ๆ อยู่บ่อย ๆ ทำให้โครงสร้างของเส้นเอ็น Annulus Fibrosus ทรุดตัวลงหรือฉีกขาดและไปเบียดกับเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ และมีอาการปวดร้าวที่หลังหรือสะโพกลงมาที่ขา บางรายรักษาได้ด้วยการกายภาพบำบัดกระดูกทับเส้น แต่บางรายมีอาการปวดมากต้องไปพบแพทย์

3 ท่ากายภาพบำบัดกระดูกทับเส้นแบบง่าย ๆ ทำเองได้

  1. นอนคว่ำยืดแขนขึ้น เป็นกายภาพบำบัดกระดูกทับเส้นพื้นฐานที่สามารถบนเบาะหรือบนเตียงได้ โดยเริ่มจากการนอนคว่ำ งอแขนไว้ข้างลำตัว จากนั้นใช้ข้อมือดันพื้นแล้วเหยียดแขนให้ตรงขึ้นทั้งสองข้าง หลังแอ่นงอ ให้ทำ 10 ครั้ง ครั้งละ 2 เซต
  2. นอนคว่ำชันศอกขึ้น ให้เหยียดตัวขึ้นโดยการใช้ศอกดันพื้น แขนและข้อมือขนานกับลำตัว เหยียดลำตัวขึ้นให้หลังแอ่น ทำ 10 ครั้ง ครั้งละ 2 เซต
  3. นอนหงายชันเข่า นอนหงายบนพื้นราบ ชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง จากนั้นยกขาข้างหนึ่งขึ้นมาประมาณ 90 องศา แล้วค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ทำอีกข้างสลับกัน ทำข้างละ 2 ครั้ง

ข้อควรระวังในการกายภาพบำบัดกระดูกทับเส้น

  • หากรู้สึกเจ็บหรือปวดไม่ควรทำต่อ การกายภาพบำบัดกระดูกทับเส้นที่ถูกต้องควรทำเท่าที่ร่างกายทำไหว เพราะอาการปวดของแต่ละคนไม่เท่ากัน หากทำแล้วรู้สึกเจ็บหรือปวดที่บริเวณหลัง เอว หรือขาควรหยุดทำ ไม่ควรฝืนทำต่อเพราะจะทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
  • ไม่ควรหักโหมจนเกินไป ทำกายภาพวันละ 2 – 3 ครั้ง อาจเป็น 2 ครั้ง เช้า – เย็นก็ได้ แต่ไม่ควรหักโหมมากจนเกินไป ไม่ควรทำท่ากายภาพติดต่อกันเป็นเวลานาน หากทำครบเซตครบท่าแล้วควรหยุดพักแล้วค่อยทำใหม่ในรอบต่อไป
  • ไม่ควรออกแรงเยอะจนเกินไป การกายภาพบำบัดไม่ใช่การออกกำลังกายจึงไม่จำเป็นต้องออกแรงเยอะ ควรทำช้า ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นค่อย ๆ ยืดขยายตัว
  • ควรทำเป็นประจำทุกวัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง

                การกายภาพบำบัดกระดูกทับเส้นเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ปวดแต่สามารถเดินหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่หากใครที่มีอาการปวดรุนแรง ปวดร้าวลงขาหรือชาที่ปลายเท้า เป็นแล้วไม่สามารถเดินต่อได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกวิธี อาจรักษาร่วมกับการทานยา การฉีดยา คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการผ่าตัดผ่านกล้อง